สงครามกลางเมืองครั้งที่ 3 ของ สงครามกลางเมืองอังกฤษ

ไอร์แลนด์

นายพลโรเบิร์ต เบลค

ไอร์แลนด์มีสงครามติดต่อกันมาตั้งแต่การปฏิวัติไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1641 โดยมี สหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) เป็นผู้มีอำนาจควบคุมไอร์แลนด์เกือบทั้งหมด แต่อำนาจของกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ทรงถูกจับได้ในปี ค.ศ. 1648 แล้วฝ่ายสหพันธ์ก็ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษ กองกำลังร่วมระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษและฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ภายใต้การนำของเจมส์ บัตเลอร์ ดยุคแห่งออร์มอนด์ที่ 1 (James Butler, 1st Duke of Ormonde) พยายามที่จะกำจัดกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษที่ยึดดับลินอยู่ แต่ฝ่ายรัฐสภาก็ดึงการต่อสู้ไปที่ยุทธการรัธไมน์ส (Battle of Rathmines) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1649 อดีตสมาชิกรัฐสภานายพลโรเบิร์ต เบลค (Robert Blake) หยุดยั้งกองทัพเรือของเจ้าชายรูเปิร์ตที่คินสเซล แต่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ขึ้นฝั่งได้ที่ดับลิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1649 พร้อมกับกองทัพที่นำมาปราบฝ่ายพันธมิตรของกษัตริย์นิยมอังกฤษและสหพันธ์ไอร์แลนด์

การกำหราบฝ่ายกษัตริย์นิยมในไอร์แลนด์ของครอมเวลล์ในไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1649 มีผลกระทบกระเทือนต่อชาวไอร์แลนด์อยู่เป็นระยะเวลานาน หลังจากได้รับชัยชนะจากการล้อมเมืองโดรเกดา (siege of Drogheda) แล้วทางฝ่ายรัฐสภาก็จัดการสังหารหมู่ของผู้คนร่วม 3,500 คน ในจำนวนนั้น 2,700 คนเป็นทหารฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่อีก 700 คนไม่ใช่ทหารแต่รวมทั้งประชาชน, นักโทษและนักบวชโรมันคาทอลิก (ครอมเวลล์อ้างว่าบุคคลเหล่านั้นถืออาวุธ)

ความทารุณจากเหตุการณ์ครั้งนี้กลายมาเป็นสาเหตุหนึ่งของความบาดหมางระหว่างชาวไอร์แลนด์ที่มีต่อชาวอังกฤษ และระหว่างผู้เป็นโรมันคาทอลิกต่อผู้เป็นโปรเตสแตนต์เป็นเวลาร่วมสามร้อยปีต่อมา การสังหารหมู่เป็นการกระทำที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของภาพพจน์ที่ชาวไอร์แลนด์มีต่อความทารุณของครอมเวลล์ แม้ว่าชาวไอร์แลนด์จะยังมาเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากมายกว่าที่เกิดขึ้นที่โดรเกดาและเว็กซ์ฟอร์ดในสงครามกองโจร (guerrilla warfare) ที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากนั้น แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐสภาก็มิได้รับชัยชนะต่อไอร์แลนด์จนอีกสี่ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1653 เมื่อกองทัพฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) และฝ่ายกษัตริย์นิยมยอมแพ้

นักประวัติศาสตร์ประมาณกันว่าในบั้นปลายของสงครามไอร์แลนด์สูญเสียประชากรไปราว 30% ซึ่งไม่ก็จากสงครามหรือจากการหนีไปต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็ยึดที่ดินที่เป็นของโรมันคาทอลิกแต่เดิมเกือบทั้งหมดและแจกจ่ายให้แก่เจ้าหนี้รัฐสภา, ทหารฝ่ายรัฐสภาที่ไปรบที่ไอร์แลนด์ และแก่ชาวอังกฤษที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในไอร์แลนด์ก่อนสงคราม

สกอตแลนด์

ยุทธการดันบาร์

การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแนวทางของสงครามสามอาณาจักร (Scotland in the Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งเป็นสงครามของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและกลุ่มพันธสัญญา (Covenanters) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1644 มาถึงปี ค.ศ. 1649 ความขัดแย้งก็ทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วน ส่วนเจมส์ แกรม มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสที่ 1 ผู้นำก็หนีไปต่างประเทศ เมื่อเริ่มแรกพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงหนุนให้มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสรวบรวมกองทัพในสกอตแลนด์ให้มาร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่กลุ่มพันธสัญญา (ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และหวาดกลัวต่ออนาคตของนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) และความมีอิสระของสกอตแลนด์ภายใต้เครือจักรภพแห่งอังกฤษ) ก็ถวายราชบัลลังก์สกอตแลนด์ให้แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระเจ้าชาลส์ทรงทิ้งมาร์ควิสไว้กับศัตรู แต่มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสผู้ไปรวมรวมกองทหารมาจากนอร์เวย์มาขึ้นฝั่งได้และไม่สามารถยุติการต่อสู้ได้ ในที่สุดฝ่ายพันธสัญญาก็ได้รับชัยชนะต่อมอนท์โรสที่ยุทธการคาร์บิสเดล (Battle of Carbisdale) ในรอสไชร์เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1650 มอนท์โรสถูกฝ่ายพันธสัญญาจับได้หลังจากนั้นไม่นานนักและถูกนำตัวไปเอดินบะระห์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ตัดสินให้ประหารชีวิตมอนท์โรส มอนท์โรสถูกแขวนคอในวันต่อมา

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงขึ้นฝั่งสกอตแลนด์ที่การ์มัธในมลฑลมอเรย์เชอร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1650 และทรงลงนามในพันธสัญญาแห่งชาติ ค.ศ. 1638 (National Covenant) และ ข้อตกลงระหว่างฝ่ายรัฐสภากับกลุ่มพันธสัญญา ค.ศ. 1643 (Solemn League and Covenant) ทันทีหลังจากที่ทรงขึ้นฝั่ง ด้วยความสนับสนุนของฝ่ายกษัตริย์นิยมของสกอตแลนด์เดิมและกองทัพของกลุ่มพันธสัญญาใหม่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณรัฐอังกฤษ ในการตอบโต้ต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐครอมเวลล์ก็ทิ้งนายทหารบางคนไว้ที่ไอร์แลนด์เพื่อปราบปรามความไม่สงบที่นั่นต่อไปและตนเองเดินทางกลับอังกฤษ

ครอมเวลล์เดินทางไปถึงสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1650 และตั้งหลักล้อมเมืองเอดินบะระห์ ในปลายเดือนสิงหาคมทั้งเชื้อโรคและความขาดแคลนเสบียงก็ทำให้ครอมเวลล์ต้องนำทัพถอยกลับไปยังที่มั่นที่ดันบาร์ กองทัพสกอตแลนด์ที่รวบรวมภายใต้นายพลเดวิด เลสลี (David Leslie) พยายามเข้าขัดขวางการถอยทัพแต่ครอมเวลล์ก็เอาชนะได้ที่ยุทธการดันบาร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1650 หลังจากนั้นครอมเวลล์จึงเข้ายึดเอดินบะระห์ และในปลายปีนั้นกองทัพของครอมเวลล์ก็ยึดสกอตแลนด์ตอนใต้ได้เกือบหมด

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1651 กองทัพของครอมเวลล์ก็ข้ามปากน้ำเฟิร์ธออฟฟอร์ธไปยังเมืองไฟฟ์และได้รับชัยชนะต่อฝ่ายสกอตแลนด์ในยุทธการอินเวอร์คีทธิง (Battle of Inverkeithing) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1651) กองทัพตัวแบบใหม่เดินทัพล่วงหน้าไปยังเพิร์ธ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระเจ้าชาลส์นำกองทัพสกอตแลนด์เดินทัพลงใต้ไปยังอังกฤษ ครอมเวลล์จึงเดินทัพตามกองทัพสกอตแลนด์โดยทิ้งจอร์จ มองค์ ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลที่ 1 ให้ดำเนินการรณรงค์ต่อไปในสกอตแลนด์ให้เสร็จสิ้น ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลยึดสเตอร์ลิง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมและดันดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1652 ก็เป็นการกำหราบการต่อต้านที่กระเส็นกระสายของฝ่ายต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นภายใต้ “ข้อเสนอสหภาพ” (Tender of Union) ก็เป็นที่ตกลงกันว่าสกอตแลนด์มีสิทธิที่จะมีที่นั่งในรัฐสภาในลอนดอนร่วม 30 ที่นั่งโดยมีนายพลมองค์เป็นข้าหลวงแห่งสกอตแลนด์

อังกฤษ

แม้ว่ากองทัพตัวแบบใหม่ของครอมเวลล์จะได้รับชัยชนะต่อกองทัพสกอตแลนด์ที่ดันบาร์แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในการเดินทัพจากสกอตแลนด์ลึกเข้าไปในอังกฤษ กองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมหันการเดินทางไปทางตะวันตกไปในบริเวณที่ผู้สนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยมหนาแน่นแต่แม้ว่าจะมีผู้มาสมทบแต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าที่พระเจ้าชาลส์และกองทัพสกอตแลนด์ของพระองค์คาดหวังไว้ ในที่สุดกองทัพฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภาก็เข้าประจันหน้ากันโดยครอมเวลล์เป็นฝ่ายที่ไดัรับชัยชนะที่วูสเตอร์เมื่อวันที่3 กันยายน ค.ศ. 1651 พระเจ้าชาลส์จึงจำต้องเสด็จหนีและในที่สุดก็ข้ามไปฝรั่งเศสซึ่งเป็นการทำให้สงครามกลางเมืองอังกฤษยุติลงในที่สุด

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองอังกฤษ http://www.hcourt.gov.au/speeches/kirbyj/kirbyj_ch... http://users.erols.com/mwhite28/warstat0.htm#EnglC... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://www.history.com/topics/british-history/engl... http://www.mainlesson.com/display.php?author=abbot... http://www.mainlesson.com/display.php?author=abbot... http://www.nndb.com/people/435/000107114/